เคยไหมครับที่วันหยุดทั้งทีอยากจะนอนอยู่บ้านสบายๆ ทั้งวันแต่ทำไม่ได้เพราะบ้านร้อนเหลือเกิน ทั้งๆ ที่ไม่อยากออกไปไหนแต่ก็ทนอยู่ไม่ไหวเหมือนกัน จะเปิดเครื่องปรับอากาศก็เสียดายค่าไฟ จนสุดท้ายก็สลัดตัวเองออกจากบ้านหนีร้อนไปเดินห้างจนได้ แต่ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปแล้วครับเพราะวันนี้เราจะขอเสนอแบบบ้านประหยัดพลังงานในชื่อโครงการ “บ้านอยู่สบายประหยัดพลังงาน” ซึ่งทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้ออกแบบไว้ให้เหมาะกับสภาพอากาศของบ้านเรากันครับ อยู่ก็เย็นสบายกาย บิลค่าไฟมาก็สบายกระเป๋า  หลายๆ คนคงอยากรู้แล้วว่าบ้านอยู่สบายประหยัดพลังงานนี้เป็นยังไงเรามาชมกันเลยครับ


แนวคิดและวิธีการออกแบบบ้านอยู่สบายประหยัดพลังงาน

              “บ้านอยู่สบายประหยัดพลังงาน” ของ พพ. นี้จะเน้นการออกแบบให้เกิดความเย็นสบายจากลมธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ และให้ความเย็นจากเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นตัวเสริม เพื่อให้ใช้ไฟฟ้าน้อยลงและอยู่สบายมากขึ้นนั่นเอง

ด้วยการผสานแนวคิด 3แนวคิดคือ
           - Vernacular คือ ความสอดคล้องและเข้ากับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ แรงงาน วัสดุที่ใช้ และสภาพแวดล้อม
           - Sustain คือ ความรอบคอบ และยั่งยืน ซึ่งในขั้นตอนของการออกแบบต้องใช้ความระมัดระวังและรอบคอบที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง
           - Efficiency & Compact Design คือ กะทัดรัด และใช้สอยได้อย่างคุ้มค่าในเนื้อที่และงบประมาณที่จำกัด
·     
        เมื่อผสมรวมกันจึงการเป็นการออกแบบ “บ้านอยู่สบายประหยัดพลังงาน” นี้ขึ้นมานั่นเองครับ

              เมื่อเรารู้จักแนวคิดหลักที่ใช้เพื่อออกแบบบ้านแล้ว คราวนี้เรามาดูหลักในการออกแบบบ้านว่าจะจัดวางตำแหน่งห้อง ยังไงและการเลือกใช้วัสดุอะไรเพื่อให้บ้านของเราเย็นสบายและประหยัดพลังงานกันดีกว่าครับ
           
                1.ดูทางลม
                ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจกลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาวที่พาพัดความเย็นมาจากจีน และตะวันตกเฉียงใต้ในฤดูฝนที่พัดพาความชื้นมาจากทะเลอันดามัน

ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
ทิศทางลมและแดดของไทย


              การวางช่องรับลมเช่นหน้าต่างหรือประตูตามแนวลมนี้จะช่วยให้ลมพัดผ่านตัวบ้านทำให้บ้านมีอากาศไหลเวียนและเย็นสบายแต่อย่าลืมเรื่องช่องทางออกของลมด้วยนะครับเพราะถ้ามีแต่ช่องเปิดรับลมเข้าแต่ไม่มีช่องลมออกอีกฝั่งลมก็พัดเข้าตัวบ้านไม่ได้เหมือนกัน นอกจากนี้การออกแบบตัวบ้านถ้าเราออกแบบให้มีส่วนที่เว้าก็จะช่วยตักลมให้พัดเข้าบ้านมากขึ้นอีกด้วย

            2.ดูทิศแดด
               แดดคือตัวร้ายที่สุดที่ทำให้บ้านของเราร้อน การรู้จักทิศทางของแดดจึงจำเป็นมากกับการออกแบบบ้านให้เย็นสบาย
               สำหรับประเทศไทยนั้นพระอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกแล้วโคจรเอียงไปทางทิศใต้ก่อนจะลับของฟ้าทางทิศตะวันตก เพราะฉะนั้นการจัดวางบ้านจึงควรวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดและความร้อนสาดเข้ามาข้างในตัวบ้าน
            ส่วนทิศใต้และทิศตะวันตกควรมีอุปกรณ์บังแดดและระบบผนังที่กันความร้อน เพราะต้องรับแดดที่แรงตั้งแต่บ่ายจนเย็น     ผนังบ้านทางทิศตะวันออกและตะวันตกควรโดนแสงแดดให้น้อยที่สุดเพื่อป้องกันการรับความร้อนช่วงสายและบ่ายเข้าบ้าน
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
การกันแดดทางทิศตะวันออกและตะวันตก
            และเมื่อเรารวมความเข้าใจเรื่องลมและแดดเข้าด้วยกันจะทำให้เราจัดวางห้องต่างๆในบ้านได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกมาก เช่น
               ห้องนั่งเล่น เป็นห้องที่มักจะใช้งานมากที่สุดในบ้าน เพราะคนในครอบครัวจะอยู่ทำกิจกรรมกันในห้องนี้ จึงควรจัดให้รับลมประจำทางใต้ และให้ห้องอยู่ฝั่งตะวันออกเพื่อป้องกันแดดร้อนจากพระอาทิตย์ยามบ่าย
            ส่วนห้องน้ำ ห้องครัว ก็จัดให้อยู่ทางทิศตะวันตกของบ้านรับแสงแดดเต็มที่เพื่อให้แสงแดดช่วยฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
แบบแปลนการจัดตำแหน่งห้องตามทิศทางลมและแดด

                3.จัดสวนดึงความเย็นเข้าบ้าน
            นอกจากการออกแบบตัวบ้านให้รับลมและกันแดดแล้ว สวนในบ้านของเรายังช่วยให้บ้านเราเย็นขึ้นได้ด้วย แค่เราเลือกปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา ทำบ่อน้ำเล็กไว้ทางที่ลมพัดเข้าบ้าน แค่นี้ลมก็จะช่วยพัดความเย็นจากธรรมชาตินอกบ้านเข้ามาในบ้านช่วยให้บ้านเย็นสบายยิ่งขึ้น
            ยิ่งไปกว่านั้นการเลือกวัสดุมาจัดสวน วัสดุปูพื้นระเบียงที่ไม่สะท้อนแสงแดด ไม่ดูดซับความร้อน พื้นผิวด้านไม่เรียบมันเช่น พื้นคอนกรีตทำผิวทรายล้าง กระเบื้องเซรามิค กระเบื้องดินเผา ก็จะช่วยให้บ้านเราเย็นขึ้นอีกด้วย
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
การใช้สวนและวัสดุภายนอกลดความร้อนในบ้าน

            4.หลังคา หน้าด่านสำคัญ
                หลังคาเป็นส่วนที่คอยป้องกันแสงแดดให้กับตัวบ้าน และต้องรับแดดตลอดทั้งวันทำให้หลังคาเป็นส่วนที่ร้อนที่สุดในของบ้าน ถึงขนาดที่ในช่วงที่แดดจัดหลังคาที่มีสีเข้ม เช่น สีน้ำตาลแดง หรือสีน้ำเงินเข้ม อาจร้อนถึง 60 °Cเลยทีเดียว  การป้องความร้อนจากหลังคาไม่ให้ลงมาที่ตัวบ้านจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้บ้านไม่ร้อน ซึ่งทำได้ดังนี้
                 - กั้นระหว่างพื้นที่ใต้หลังคากับตัวบ้านด้วยฉนวนกันความร้อน 
                  โดยปกติแล้วความต่างระหว่างอุณหภูมิในบ้านที่เราต้องการกับอุณหภูมิใต้ฝ้าเพดานจะมีความแตกต่างประมาณ 13-18 °C  เช่น ถ้าเราต้องการอุณหภูมิในบ้าน 27°C อุณหภูมิใต้หลังคาอาจสูงถึง 40-45 °C เลยทีเดียว  เราจึงจำเป็นต้องใช้ฉนวนกันความร้อนที่มีคุณภาพ เพื่อป้องกันความร้อนจากหลังคาลงมาที่ตัวบ้าน เช่น ใช้ฉนวนใยแก้วหุ้มอลูมินั่มฟอยล์หนาประมาณ 4 นิ้ว ปูเหนือฝ้าเพดานยิปซั่มบอร์ดหนา 9 มม. เป็นต้น
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
การป้องกันความร้อนจากหลังคาด้วยฉนวนกันความร้อน


                - ระบายความร้อนใต้หลังคา
                เป็นตัวเลือกที่ควรทำควบคู่กับการบุฉนวนกันความร้อน โดยการระบายความร้อนใต้หลังคาทำได้หลายวิธีทั้ง การติดตั้งบานเกล็ดไว้ที่หน้าจั่วหลังคาให้ลมไหลผ่าน หรือการใช้พัดลมดูดอากาศจากตัวบ้านขึ้นไปไล่อากาศร้อนใต้หลังคา
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
ก.การระบายความร้อนด้วยการให้ลมไหลผ่านหลังคา  
ข.การระบายความร้อนด้วยการดูดอากาศจากตัวบ้านขึ้นไป
                 - ใช้แนวชายคายื่นยาว และใช้แผงกันแดด
                 โดยออกแบบให้ทรงหลังคาเป็นทรงปั้นหยายกจั่ว ชัน34° มีช่องว่างใต้หลังคาสูง ชายคายื่นยาวเพื่อบังผนัง และระเบียงจากแดด มีช่องระบายอากาศด้านหน้า  ส่วนแผงกันแดดให้เลือกวัสดุตามความเหมาะสมเช่นบริเวณโรงจอดรถอาจใช้แผ่นโพลีคาร์บอเนตเพื่อให้แสงแดดผ่านลงมาได้ลดการใช้ไฟฟ้า ส่วนบริเวณที่ใกล้กับหน้าต่างและประตูก็ใช้แผงกันแดดอลูมิเนียมเพื่อป้องกันแสงแดดกระทบเข้าตัวบ้าน
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
ออกแบบหลังคาเป็นทรงปั้นหยายกจั่ว ชายคายื่นยาวเพื่อบังแดด


                 5.เลือกวัสดุให้เหมาะสม
            ควรเลือกวัสดุที่ช่วยป้องกันความร้อนจากภายนอก โดยเฉพาะห้องที่มีเครื่องปรับอากาศเช่นห้องนอนควรใช้ผนังคอนกรีตมวลเบาที่เป็นฉนวนได้ดีกว่าผนังก่ออิฐทั่วไปและจัดวางห้องที่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศให้ผนังต่อเนื่องกันเพราะจะลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง  ส่วนผนังภายในบ้าน อาจจะเลือกใช้ผนังก่ออิฐทั่วไปก็ได้เพราะไม่ต้องรับความร้อนจากแสงแดด
            ตัวบานกรอบประตู หน้าต่าง กระจก ควรเลือกใช้วัสดุที่ช่วยประหยัดพลังงานด้วย โดยเฉพาะกระจกควรเลือกใช้กระจกที่ลดความร้อนเข้าตัวบ้าน เช่น กระจกเขียวตัดแสง
            ส่วนวัสดุพื้นผิวต้องระวังเรื่องการสะท้อนแสง เช่น
                    - พื้นในบ้านอาจเลือก พื้นไม้ปาร์เก้ หรือกระเบื้องยาง สีอ่อน
                    - พื้นนอกบ้านเลือกเป็น พื้นผิวทรายล้าง พื้นกระเบื้องเซรามิค กระเบื้องดินเผาที่มีพื้นผิวด้าน
                    - ตัวผนังใช้ผนังฉาบเรียบทาสีน้ำพลาสติกสีอ่อน
                    - เพดานภายในใช้ ฝ้าเพดานยิปซั่มบอร์ด หรือ วัสดุอื่นที่ทาสีอ่อน
                    - ฝ้าชายคาโดยรอบทาสีเข้ม ลดการสะท้อนแสงเข้าไปในตัวบ้าน
           

                 6.ใช้แสงธรรมชาติประหยัดพลังงาน
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
การเปิดแสงจากด้านบนการเปิดแสงจากด้านบน
            การใช้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาในบ้านไม่ว่าจะทางประตู หน้าต่าง หรือแม้แต่ช่องแสงจากด้านบนจะทำให้บ้านสว่างโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ช่วยให้ประหยัดพลังงานได้มากขึ้น แต่การใช้แสงธรรมชาติต้องระวังเรื่องของความร้อนที่มาพร้อมแสงแดดด้วย ทางที่ดีควรเปิดช่องรับแสงทางทิศเหนือให้มากกว่าทิศอื่น เพราะเป็นจุดที่แสงไม่แรงเกินไป แต่ถ้าเราจำเป็นต้องเปิดช่องแสงในทิศอื่นก็ควรมีแผงบังแดดเพื่อลดความร้อนที่จะเข้ามาด้วย

ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
การใช้แผงบังแดดเพื่อลดความร้อนจากแสงแดด
         
7.รั้วระบายอากาศ
            รั้วควรออกแบบให้โปร่งให้อากาศพัดผ่านได้สะดวกช่วยระบายอากาศได้ดีขึ้น

ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
ภาพสรุปวิธีการออกแบบบ้านให้เย็นสบายและประหยัดพลังงาน


การเลือกใช้วัสดุก่อสร้าง และ ฉนวนความร้อน

                 เมื่อเราเข้าใจวิธีการออกแบบบ้านประหยัดพลังงานกันแล้ว ต่อมาที่เรามาดูวัสดุก่อสร้างและฉนวนกันความร้อนชนิดต่างๆว่ามีคุณสมบัติอะไรบ้างและใช้ทำอะไรจะได้เลือกมาใช้อย่างถูกต้อง กันครับ

 1. อิฐมอญ
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
อิฐมอญ

                 เกิดจากการนำดินเหนียวมาเผาให้ได้อิฐที่แข็งแรง มีคุณสมบัติเก็บความร้อนได้ดี มีความจุความร้อนสูง ก่อนจะค่อยๆถ่ายเทออกมา จะสังเกตว่าบ้านหลังไหนใช้อิฐมอญทำผนังบ้าน ช่วงบ่ายจะร้อนมากและกว่าจะเย็นลงก็ช่วงหัวค่ำเลย อิฐมอญจึงเหมาะสำหรับบริเวณที่ใช้งานเฉพาะเวลากลางวันเท่านั้นเช่น ในสวน เป็นต้น แต่ถ้าต้องการนำอิฐมอญมาใช้เพื่อก่อสร้างจริงๆแล้วเราสามารถประยุกต์ใช้อิฐมอญได้โดย
                - ก่อผนังสองชั้น ทำให้ผนังหนากว่าเดิม ความร้อนจากข้างนอกก็จะเข้ามาได้ยากขึ้น เพราะความร้อนต้องใช้เวลาเดินทางผ่านอิฐนานขึ้นนั่นเอง เหมือนกับโบสถ์ วิหารในสมัยก่อนของไทยที่จะก่อผนังหนาเป็นพิเศษและมีช่องหน้าต่างน้อยมาก ทำให้ความร้อนเข้าได้ยากขึ้นภายในจึงเย็นตลอดเวลา
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
การก่อผนังสองชั้น
                -ใช้วัสดุอื่นช่วยเป็นฉนวน โดยการก่อผนังสองชั้นแบบมีช่องตรงกลาง แล้วเอาฉนวนกันความร้อนเช่น ฉนวนโฟม หรือฉนวนใยแก้วใส่ลงไปในช่อง แต่วิธีนี้มีข้อเสียคือเมื่อฉนวนเสื่อมสภาพแล้วเราไม่สามารถเอาออกมาเปลี่ยนใหม่ได้ เพราะเราก่ออิฐโบกปูนทับไปแล้ว
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
การก่อผนังสองชั้นแบบเว้นช่องว่างตรงกลาง
                -เว้นช่องว่างระบายอากาศ วิธีนี้จะก่อผนังสองชั้นโดยเว้นที่ว่างตรงกลางไว้ พร้อมทำช่องระบายอากาศไว้ที่ผนังชั้นนอกให้ลมพัดเข้ามาในช่องแล้วหอบเอาความร้อนออกไปผ่านทางรูระบายอากาศ แต่ต้องระวังควรทำตะแกรงเอาไว้ป้องกันแมลงหรือสัตว์เล็กเข้าไปอาศัยอยู๋ในช่องระหว่างผนัง และระวังฝนอาจสาดเข้าไปภายใน

ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
การก่อผนังสองชั้นพร้อมทำรูระบายอากาศ

2. คอนกรีตบล็อก
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
คอนกรีตบล็อก
                 มีลักษณะกลวง เป็นที่นิยมมากเพราะราคาถูก หาซื้อง่าย ก่อสร้างได้เร็วเพราะมีขนาดใหญ่กว่าอิฐมอญ การมีรูกลวงทำให้คอนกรีตบล็อกเป็นฉนวนกันความร้อนได้ดี ดูดซึมน้ำดีกว่าอิฐมอญ
          การนำคอนกรีตบล็อกมาใช้จะไม่สามารถใช้วิธีก่อผนังสองชั้นแบบอิฐมอญได้เพราะมีขนาดหนาเกินไป ต้องใช้วัสดุมวลน้อยปิดข้างนอกหรือเพิ่มฉนวนข้างในแทน แต่การเพิ่มฉนวนนั้นจำเป็นต้องฉาบทับคอนกรีตบล็อกกันการรั่วซึมก่อนติดฉนวนข้างใน เพราะน้ำจะซึมผ่านคอนกรีตบล็อกและกระจายตัวได้ง่าย และถ้าฉนวนโดนน้ำจะทำให้เสื่อมเร็ว
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
การติดฉนวนกับผนังคอนกรีตบล็อก

                 ข้อเสียอีกอย่างของคอนกรีตบล็อกคือ เปราะแตกง่าย ทำให้เจาะผนัง แขวนสิ่งของไม่ค่อยได้ แก้ได้ด้วยการเทปูนปิดลงในช่องว่าง แต่ก็จะทำให้ตัวบ้านหนักขึ้นและไม่มีฉนวนกันความร้อนเพราะไม่มีรูระบายอากาศ


3.คอนกรีตมวลเบา
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
คอนกรีตมวลเบา
                 เกิดจากการนำ ทราย ซีเมนต์ ปูนขาว ยิปซั่ม และผงอลูมิเนียมผสมรวมกัน ปัจจุบันเป็นที่นิยมมากขึ้นเพราะ มีฟองอากาศและรูพรุนภายในจำนวนมาก ทำให้น้ำหนักเบาและเป็นฉนวนป้องกันความร้อนได้เป็นอย่างดีทำให้ไม่ต้องหาฉนวนอย่างอื่นมาทับอีก แต่มีข้อเสียสำคัญคือจำเป็นต้องใช้ช่างที่มีความรู้ความชำนาญในการฉาบ ไม่อย่างนั้นจะทำให้ปูนฉาบแตกร้าวตอนแห้งแล้วได้
                ปัญหาสำคัญอีกข้อคือ คอนกรีตมวลเบามีราคาแพง เพื่อลดค่าใช้จ่ายอาจจะติดตั้งคอนกรีตมวลเบาเฉพาะห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศเท่านั้น จะช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศได้เป็นอย่างดี ส่วนห้องที่ไม่ใช้เครื่องปรับอากาศก็ใช้อิฐมอญ หรือ คอนกรีตบล็อกแทนแล้วทำช่องเปิดเพื่อให้ลมพัดผ่านระบายอากาศแทน

4. กระจก
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
กระจกสี
                ปัจจุบันคนนิยมเอากระจกมาเป็นส่วนของผนังมากขึ้น เพราะความสวยงาม ช่วยให้มองเห็นบรรยากาศภายนอกได้ดี ทำให้บ้านดูโปร่งโล่งสบาย แต่การเลือกใช้กระจกต้องมีความระมัดระวังเพราะกระจกจะทำให้แสงแดดและความร้อนเข้าบ้านได้ดีทำให้บ้านบ้านอยู่สบายประหยัดพลังงานเราร้อนขึ้นมาก การใช้ชนิดของกระจกให้เหมาะกับบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยกระจกสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆได้ดังนี้
                - กระจกใส
                ผิวเรียบสนิท ราคาถูกที่สุด และแสงสามารถผ่านได้มากถึง88% ทำให้แสงกระจายเข้าตัวบ้านได้มาก แต่ความร้อนก็จะเข้ามาในบ้านสูงเช่นกัน การใช้กระจกใสจึงจำเป็นต้องติดฟิล์มกรองแสง หรือติดแผ่นบังแดด เพื่อลดความร้อนลง

                - กระจกสี
                เป็นกระจกโปร่งแสง สีจะเข้มขึ้นตามความหนาของกระจก และจะดูดซึมความร้อนสะสมไว้ตามตัวของกระจก เมื่อมองภายนอกจะเหมือนกระจกตัดแสงที่มีสี แต่คุณสมบัติป้องกันความร้อนต่างกันมากจึงต้องระวังเวลาเลือกซื้อไม่ให้สับสน

                - กระจกสีตัดแสง
               ปัญหาความร้อนในตัวบ้าน ส่วนมากมักเกิดจากผนังส่วนที่โปร่งแสงมากกว่าส่วนที่ทึบแสง โดยรังสีของดวงอาทิตย์ที่เป็นคลื่นสั้นเมื่อเข้ามากระทบกับผนังก็จะดูดซับรังสีไว้แล้วกลายเป็นรังสีคลื่นยาว(พลังงานความร้อน)ที่ไม่สามารถทะลุผนังออกไปได้ทำให้เกิดความร้อนสะสมในตัวบ้านนั่นเอง
               กระจกสีตัดแสงจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะสีที่เห็นนั้น เกิดจากการผสมออกไซด์ของโลหะลงในส่วนผสมของเนื้อกระจก ช่วยให้ดูดกลืนพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้ดี ลดความร้อนในบ้านและยังช่วยให้แสงที่ส่องเข้ามาไม่จ้าจนเกินไปอีกด้วย

               - กระจกเคลือบผิวสะท้อน
              จะมีลักษณะคล้ายกระจกเงา ผิวกระจกจะเคลือบสารสะท้อนแสงไว้ทำให้สะท้อนแสงที่เข้ามาได้กว่า 60% แสงจึงเข้าน้อยกว่าปกติ  เวลาติดตั้งจึงต้องตรวจดูก่อนว่าบริเวณนั้นมีแสงสว่างเพียงพอไหมถ้า บ้างครั้งอาจจะต้องติดไฟส่องสว่างเพิ่มเติม
              นอกจากนี้การติดกระจกเคลือบผิวสะท้อน ควรติดในบริเวณที่ใช้งานเฉพาะกลางวันที่ต้องการลดความจ้าของแสงเท่านั้น เช่นอาคารสูงที่เป็นออฟฟิศเพราะช่วงกลางวันความสว่างข้างนอกจะมากกว่าข้างในทำให้เราเห็นคนข้างนอกแต่คนข้างนอกมองไม่เห็นเรา แต่ในเวลากลางคืนแสงสว่างข้างในจะสว่างกว่าข้างนอกทำให้คนข้างนอกเห็นเราทำให้เสียความเป็นส่วนตัวไป นอกจากนี้ตัวกระจกยังดูดความร้อนได้ดีทำให้อาจเกิดปัญหาแตกร้าวเพราะความร้อนสะสมได้ ต้องระมัดระวังในการหาจุดติดตั้งเป็นอย่างมาก

                - กระจกฉนวนกันความร้อน
                หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ากระจกสองชั้น มีการแผ่รังสีความร้อนต่ำ ช่วยป้องกันการถ่ายเทความร้อนระหว่างในและนอกบ้านได้ดี  สามารถแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้
                1.ชนิดใช้อากาศแห้งเป็นฉนวน  เกิดจากการเอากระจกแผ่นเรียบ 2 แผ่น มาประกอบกันโดยมีเฟรมอลูมิเนียมที่บรรจุสารดูดความชื้นอยู่ตรงกลาง แล้วปิดขอบกระจกให้สนิท ทำให้อากาศที่อยู่ในช่องว่างนั้นเป็นอากาศแห้ง ช่วยเป็นฉนวนกันความร้อน และลดเสียงรบกวนได้ดีกว่ากระจกทั่วไป
                2.ชนิดใช้ก๊าซเป็นฉนวน จะเหมือนแบบใช้อากาศแห้งคือใช้กระจกสองแผ่นมาประกบกัน แต่ตรงช่องระหว่างกระจกจะใส่ก๊าซเฉื่อยลงไปแทน ซึ่งจะมีประสิทธิภาพดีกว่าแบบอากาศแห้ง
การใช้กระจกฉนวนกันความร้อนแบบนี้จะช่วยลดความร้อนที่จะเข้ามาได้ถึง 70-80% แต่แสงสว่างยังคงผ่านเข้ามาได้มาก ทำให้บ้านสว่างแต่ไม่ร้อน และยิ่งถ้าติดฟิล์มด้านในกระจกทั้งสองแผ่นก็จะช่วยป้องกันรังสีUVเข้ามาทำลายวัสดุต่างๆในบ้านได้ด้วย

                แม้ว่ากระจกหลายๆแบบจะช่วยลดแสงและความร้อนที่เข้าในตัวบ้าน แต่ความร้อนส่วนใหญ่ที่ถูกกระจกกันไว้นั้นไม่ได้ถูกสะท้อนไปไหนแต่ถูกเก็บไว้ในตัวกระจก ซึ่งถ้าถูกความร้อนโดยตรงมากๆกระจกก็อาจจะแตกร้าวได้  เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะใช้กระจกแบบไหนก็ควรใช้อุปกรณ์บังแดดเพื่อลดความร้อนของกระจกด้วย
                และควรระวังการเอาผ้าม่านหรือวัสดุอื่นๆมาแนบกระจกด้านในเพื่อบังแสงแดด อาจจะทำให้กระจกสะสมความร้อนไว้สูงขึ้นเพราะไม่มีทางระบายความร้อนได้ ยิ่งถ้าเราเปิดเครื่องปรับอากาศในห้องก็จะทำให้อุณหภูมิข้างนอกและข้างในต่างกันมากจนกระจกแตกร้าวได้


5.ยิปซั่มบอร์ดชนิดกันความร้อน
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
ยิปซั่มบอร์ด สามารถนำมาใช้ทั้งเป็นผนังและเพดานได้
                 ผลิตมาจากแร่ยิปซั่มซึ่งเผาไฟไม่ติดเป็นแกนกลางแล้วประกบด้วยกระดาษเหนียวชนิดพิเศษทั้งสองด้าน ป้องกันความร้อนและเสียงรบกวนได้ดี นอกจากนี้แผ่นยิปซั่มยังไม่ป็นพิษต่อร่างกาย ติดตั้งง่าย  ถ้าเอามาใช้เป็นผนังอาคารจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องโครงสร้างได้มากเพราะเบากว่าผนังก่ออิฐถึง 5 เท่า
                 ปัจจุบันได้มีการพัฒนายิปซั่มบอร์ดจนมีหลากหลายแบบให้เราเลือกใช้ไม่ว่าจะแบบธรรมดา กันความร้อน ทนไฟ กันชื้น เป็นต้น ยิปซั่มบอร์ดที่มีคุณสมบัติในการป้องกันความร้อนได้ดี เช่น ชนิดอลูมินั่มฟอยล์ เป็นการเอาแผ่นยิปซั่มมาบุด้วยอลูมินั่มฟอยล์ทำให้สามารถสะท้อนรังสีความร้อนได้ถึง 95% เหมาะกับการทำฝ้าเพดานและผนังจุดที่ต้องป้องกันความร้อนมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีชนิดกันความร้อนพิเศษซึ่งจะใช้แผ่นยิปซั่มติดแผ่นโฟมโพลีสไตรีนชนิดไม่ลามไฟ ความหนาแน่น 1 ปอนด์/ลบ.ฟุตและแผ่นอลูมินั่มฟอยล์ ยิ่งทำให้สะท้อนความร้อนได้ดีเป็นพิเศษ เหมาะกับห้องที่ต้องการให้อุณหภูมิในห้องคงที่เสมอ หรือห้องที่ต้องการลดการใช้เครื่องปรับอากาศ
                ยิปซัมบอร์ดมักไม่นิยมใช้ทำผนังด้านนอกเพราะขาดความแข็งแรงทนทาน แต่มักจะใช้ทำผนังข้างในและฝ้าเพดานเพราะมีน้ำหนักเบาก่อสร้างได้รวดเร็ว สำหรับการทำผนังข้างในจะไม่ค่อยเน้นการใช้คุณสมบัติป้องกันความร้อนมากนักต่างกับฝ้าเพดานจำเป็นต้องใช้แผ่นยิปชั่มที่กันความร้อนโดยเฉพาะ แต่ควรมีการใช้อลูมินั่มฟอยล์หรือแผ่นสะท้อนความร้อนปิดทับอีกชั้นหนึ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดความร้อน
                ปัญหาที่มักเกิดกับแผ่นยิปซั่มคือเมื่อมีฝุ่นเกาะมากๆจะทำให้ความสามารถในการสะท้อนความร้อนลดลง นอกจากนี้การเดินสายไฟและติดตั้งไฟแบบฝังในฝ้าเพดานถ้าติดตั้งไม่ถูกวิธีจะทำให้แผ่นยิปซั่มเสียหายได้


6.ไฟเบอร์บอร์ด
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
แผ่นไฟเบอร์

                 ผลิตจากเส้นใยไม้ที่ย่อยสลายเป็นเซลลูโลสแล้วอัดติดกันด้วยกาวชนิดพิเศษ ด้วยลักษณะที่เป็นเส้นใยทำให้กันความร้อนได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่แข็งแรงทนทานจึงเหมาะกับงานฝ้าเพดานและผนังภายในเท่านั้น 
                 แต่ในปัจจุบันมีคนนำเอาเส้นใยเซลลูโลสนี้มาผสมกับปูนซีเมนต์แล้วอัดให้แรงขึ้นจนเป็นแผ่น ทำให้แข็งแรงขึ้นจนสามารถใช้กับงานภายนอกได้แล้ว แต่ถึงจะมีความแข็งแรงแต่ก็ยังป้องกันความร้อนได้ไม่มากนัก ถ้าจะเลือกใช้ไฟเบอร์บอร์ดเพื่อทำผนังภายนอกก็จำเป็นจำต้องทำเป็นผนังประกอบ หรือติดตั้งฉนวนกันความร้อนเข้าไปด้านในแล้วทำผนังด้านในปิดทับอีกชั้น


7.เส้นใยแก้ว
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
ม้วนแผ่นใยแก้ว
                 เป็นฉนวนที่ใช้การหลอมแก้วแล้วปั่นออกมาเป็นเส้นใยสีขาว มีความหนาแน่นตั้งแต่ 10 kg/m3 ไปถึงมากกว่า 64kg/m3 ยิ่งมีความหนาแน่มากยิ่งดีแต่ราคาก็จะสูงขึ้น มีทั้งแบบแผ่นแข็ง แบบม้วน หรือขึ้นเป็นรูปทรงต่างๆ  ส่วนตัวเส้นใยจะถูกเคลือบ ด้วยตัวประสานเส้นใยเข้าด้วยกัน
                 ตัวใยแก้วนั้นเป็นสารอนินทรีย์จึงไม่ติดไฟ แต่ตัวประสานสามารถติดไฟได้จึงต้องระวังเวลานำมาใช้งาน นอกจากนี้ยังต้องระวังเรื่องความชื้น เพราะจะทำให้การต้านทานความร้อนลดลง เวลาเลือกซื้อจึงควรหาแบบที่มีวัสดุหุ้ม เช่น แผ่นอลูมินั่มฟอยล์ หรือฟิล์มพลาสติกหุ้มเพื่อกันความชื้น ที่สำคัญคือต้องระวังเรื่องกลิ่นจากตัวประสานจึงควรเก็บในพื้นที่เปิดโล่ง โดยทั่วไปมักจะนำแผ่นใยแก้วมาใช้วางเหนือฝ้าเพดาน


8.ฉนวนโฟม
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
ฉนวนโฟม
                  ในปัจจุบันถือว่าเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดีที่สุด มีหลายชนิดแล้วแต่สารประกอบที่เอามาผลิต มีทั้งแบบพ่นและแบบสำเร็จรูป ฉนวนโฟมนั้นสามารถใช้งานได้ทั้งในและนอกตัวบ้าน ป้องกันความร้อนได้ดี น้ำหนักเบา ไม่ทำให้เกิดปัญหากับโครงสร้าง ไม่เป็นมลภาวะ นอกจากนี้ยังมีความยืดหยุ่นในการใช้สูง โดยเฉพาะแบบพ่นเพราะจะใช้กับส่วนไหนของบ้านก็ได้ ใช้ประกอบกับวัสดุฉนวนอื่นๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นก็ได้ แต่ฉนวนโฟมจะเสื่อมสภาพเร็วถ้าโดนรังสีUV เวลานำมาใช้งานจึงควรมีวัสดุปิดอีกชั้นเพื่อป้องกันรังสี


9.อลูมินั่มฟอยล์
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
ม้วนอลูมินั่มฟอยล์
                เป็นฉนวนสะท้อนความร้อนที่นิยมมาก จะทากาวประกบกับแผ่นกระดาษคราฟมีเส้นใยเสริมแรง บางชนิดอาจมีชั้นของบิทูเมนอยู่ด้วยทำให้ต้องระวังเรื่องการติดไฟ มักจะใช้ติดตั้งใต้แผ่นหลังคาเพื่อช่วยลดความร้อน และควรระวังเรื่องฝุ่นจับที่ผิวอลูมินั่มฟอยล์ จะทำให้ไม่สามารถสะท้อนความร้อนออกไปได้


แบบบ้านอยู่สบายประหยัดพลังงาน

บ้านเดี่ยวชั้นเดียว (รูปแบบ A)
                 บ้านเดี่ยวชั้นเดียวรูปแบบ A จะเป็นบ้านบนที่ดินขนาด 13x16เมตร หรือ 52 ตารางวา   

ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
แบบบ้านเดี่ยวชั้นเดียว(รูปแบบA) และขนาดที่ดิน
                  มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 84 ตารางเมตร ห้องนอน 2 ห้อง, ห้องน้ำ 1 ห้อง, ส่วนรับแขก, ส่วนนั่งเล่น, ห้องครัว, ที่จอดรถ 1 คัน ราคาค่าก่อสร้างประมาณ 1.19 ล้านบาท (ราคาเมื่อปี 2552)

ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
แบบแปลนบ้านเดี่ยวชั้นเดียว(รูปแบบA)


ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน

ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
ลักษณะภายนอกและในบ้าน



บ้านเดี่ยว2ชั้น(รูปแบบ B)
                  บ้านเดี่ยวสองชั้นรูปแบบ B จะเป็นบ้านบนที่ดินขนาด 14x18เมตร หรือ 63 ตารางวา   

ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
แบบบ้านเดี่ยวสองชั้น(รูปแบบB) และขนาดที่ดิน

                  มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 135 ตารางเมตร ห้องนอน 3 ห้อง, ห้องน้ำ 2 ห้อง, ส่วนรับแขก, ส่วนนั่งเล่น, ส่วนรับประทานอาหาร, ห้องครัว, ที่จอดรถ 1 คัน ราคาค่าก่อสร้างประมาณ 2.26 ล้านบาท (ราคาเมื่อปี 2552)
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
แบบแปลนบ้านเดี่ยวสองชั้นู(รูปแบบB)


ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน

ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
ลักษณะภายนอกและในบ้าน


บ้านเดี่ยว2ชั้น(รูปแบบ C)
                  บ้านเดี่ยวสองชั้นรูปแบบ C เป็นบ้านบนที่ดินขนาด 14x20เมตร หรือ 70 ตารางวา 
ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
แบบบ้านเดี่ยวสองชั้น(รูปแบบC) และขนาดที่ดิน
                      มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 183 ตารางเมตร ห้องนอน 4 ห้อง, ห้องน้ำ 4 ห้อง, ส่วนรับแขก, ส่วนนั่งเล่น, ส่วนรับประทานอาหาร, ห้องครัว, ที่จอดรถ 2 คัน ราคาค่าก่อสร้างประมาณ 2.79 ล้านบาท (ราคาเมื่อปี 2552)

ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
แบบแปลนบ้านเดี่ยวสองชั้นู(รูปแบบC)

ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน

ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน

ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน
ลักษณะภายนอกและในบ้าน


                 สำหรับใครที่ชอบบ้านแบบไหนหรือต้องการนำแนวคิดในการออกแบบบ้านอยู่สบายมาประยุกต์กับแบบบ้านในฝันของตัวเองก็สามารถทำได้ ขอให้มีความสุขกับบ้าน กับวิมานของทุกๆคนนะครับ

ข้อมูลจาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

Post A Comment:

0 comments:

babbaan.in V. Powered by Blogger.