หลังคาถือเป็นส่วนสำคัญของบ้านอย่างมาก เพราะทำหน้าที่กันแดดกันฝนให้กับตัวบ้าน ป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่จะเข้ามาสู่ตัวบ้านตรงๆ การออกแบบและเลือกวัสดุเพื่อใช้มุงหลังคาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่นอกจากต้องเลือกให้เข้ากับแบบบ้านแล้วยังต้องเลือกให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและการใช้งานด้วย

วัสดุมุงหลังคา


               วัสดุมุงหลังคานั้นมีหลายชนิดทั้งแบบธรรมชาติและแบบสังเคราะห์ แต่ละแบบล้วนมีคุณสมบัติที่ต่างกันดังนี้

               1. วัสดุมุงหลังคาตามธรรมชาติ
               เช่น ตับจาก แป้นเกล็ดไม้สัก ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมเพราะอายุการใช้งานสั้นไม่ทนทาน รั่วได้ง่าย และติดไฟง่าย แต่วัสดุตามธรรมชาติบางชนิดยังนำมาใช้บ้างเช่น ตับจาก เนื่องจากมีราคาถูก ใช้มุงศาลาหรือโรงเรือนที่มีการใช้งานเพียงชั่วคราว ช่วยให้ประหยัดงบประมาณการสร้างได้มาก

หลังคาแป้นเกล็ดไม้สัก/ตับจาก
แป้นเกล็ดไม้สัก/ตับจาก
           
               2. สังกะสี
               เป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ราคาถูก  สามารถติดตั้ง รื้อถอนได้ง่ายและนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ ช่วยประหยัดค่ามุงหลังคาได้เป็นอย่างดี แต่มีข้อเสียคือ ตัวสังกะสีนั้นนำความร้อนได้ดีทำให้ความร้อนกระจายเข้าตัวอาคารได้มากส่งผลให้ตัวอาคารร้อน มีปัญหาเสียงดังเมื่อฝนตก และเนื่องจากสังกะสีนั้นเป็นโลหะเมื่อต้องโดนแดดและฝนเป็นระยะเวลานานก็จะเป็นสนิมและเกิดรูรั่วได้ง่าย สังกะสีจึงมีอายุการใช้งานจำกัด นอกจากนี้แผ่นสังกะสีที่บางและน้ำหนักเบาเมื่อเจอกับลมแรงหรือพายุก็จะฉีกขาดและปลิวทำให้เกิดความเสียหายได้อีกด้วย
               สังกะสีจึงเหมาะกับการมุงหลังคาของอาคารที่อยู่ชั่วคราว มีการื้อถอนย้ายที่บ่อย ต้องการประหยัดงบประมาณ เช่น บ้านพักชั่วคราวของคนงานก่อสร้าง  เพิงศาลาขายของ เป็นต้น
การมุงหลังคาสังกะสี
การมุงหลังคาสังกะสี
             
               3. แผ่นเหล็กเมทัลชีท หรือ หลังคาโลหะเคลือบ
               เป็นการพัฒนาต่อยอดจากแผ่นสังกะสี ที่พยายามลบจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งให้ดีขึ้น มีคุณสมบัติที่เบา มีการเคลือบและอบสีเพื่อช่วยในการสะท้อนความร้อนทำให้ตัวอาคารไม่ร้อนมากเท่าการมุงสังกะสี มีสีสันสดใส นอกจากนี้ยังผสมโลหะอื่นเข้าไปเพื่อลดการเกิดสนิมอีกด้วย การมุงหลังคาด้วยแผ่นเมทัลชีทจะทำให้มีรอยต่อน้อย สามารถรีดเป็นแผ่นยาวได้  จึงลดปัญหาการรั่วซึมได้ แต่ยังคงมีปัญหาเสียงดังเมื่อฝนตกเช่นเดิม
               สำหรับแผ่นเมทัลชีทนี้ปัจจุบันนิยมใช้กับโกดังสินค้า โรงงาน สถานีบริการน้ำมัน โรงจอดรถ เพราะตัวอาคารกว้างและไม่มีเสารับน้ำหนักตรงกลางอาคารจึงต้องใช้วัสดุมุงหลังคาที่เบาเพื่อป้องกันหลังคาถล่ม
หลังคาแผ่นเมทัลชีท
แผ่นเมทัลชีท จะมีสีสันสดใสกว่าสังกะสี
             
               4.กระเบื้องดินเผา
               ทำมาจากดินเหนียวเผาด้วยความร้อนสูงจนแข็งแรง มักพบในบ้านสมัยเก่าใช้มุงหลังคามาแต่โบราณ มีความสวยงามแบบโบราณ เป็นฉนวนกันความร้อนได้ดีช่วยให้บ้านเย็น มีน้ำหนักไม่มากนัก วิธีการมุงหลังคาต้องมุงให้ซ้อนทับกัน ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมเพราะกระเบื้องดินเผาต้องมุงบนหลังคาที่ลาดเอียงมากๆ ทำให้เปลืองระแนงที่รับกระเบื้อง และยังรั่วซึ่มได้ง่าย ทำให้ต้องออกแบบกันน้ำฝนใต้หลังคาด้วย
               กระเบื้องดินเผานั้นนิยมใช้กับอาคารเก่าที่ต้องการอนุรักษ์ลักษณะดั้งเดิมเอาไว้ เช่น บ้านทรงไทย หรือ โบสถ์ วิหารต่างๆ ที่ต้องการแสดงถึงความเป็นไทยโบราณ
หลังคากระเบื้องดินเผา
หลังคากระเบื้องดินเผา

               5. กระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์
               ชื่อนี้อาจจะฟังดูไม่คุ้นหูกันแต่ถ้าพูดว่ากระเบื้องลอนคู่ทุกคนคงต้องร้องอ๋อแน่นอน ปัจจุบันกระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์เป็นที่นิยมอย่างมากด้วยคุณสมบัติกันไฟ และเป็นฉนวนกันความร้อนช่วยให้บ้านเย็นสบาย ระบายน้ำได้ดี สีสันสดใส มีราคาไม่แพง น้ำหนักเบา ช่วยประหยัดค่าโครงสร้างได้ดี เหมาะใช้มุงหลังคาที่มีความลาดชันตั้งแต่ 10 องศาขึ้นไป
หลังคากระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์
หลังคากระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์

               6.กระเบื้องคอนกรีต
               หรือที่เราเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กระเบื้องซีแพคโมเนีย เริ่มนำมาใช้เพราะหลังคาทรงปั้นหยาได้รับความนิยมขึ้น ตัวกระเบื้องผลิตมาจากคอนกรีต ทำให้มีความแข็งแรงทนทาน ทนลมและฝนได้ดี สีสันสดใสสวยงามและไม่เป็นเชื้อรา แต่ด้วยความคงทนแข็งแรงทำให้ต้องแลกกับราคาที่แพง และน้ำหนักที่มากจึงต้องทำโครงหลังให้แข็งแรงขึ้นเพื่อรองรับวัสดุปูหลังคา
หลังคากระเบื้องคอนกรีต
หลังคากระเบื้องคอนกรีต

               7. กระเบื้องเซรามิค
               มีพื้นผิวเรียบเนียนมันวาว สะท้อนสีเคลือบผิวชัดเจน มีเส้นรูปเป็นลอนสวยงาม สีสันคงทน ไม่ขึ้นรา เมื่อถูกชะล้างด้วยน้ำฝนแล้วยังคงสภาพเหมือนใหม่ และเป็นฉนวนป้องกันความร้อนได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับกระเบื้องมุงหลังคาอื่นๆ
หลังคากระเบื้องเซรามิค
กระเบื้องเซรามิค

               8.กระเบื้องโปร่งแสง หรือ กระเบื้องไฟเบอร์กลาส
               ทำจากใยแก้ว และ โพลีเอสเตอร์เรซิน เข้าเครื่องรีดเป็นแผ่นบาง แล้วเคลือบด้วยแผ่นฟิล์มพิเศษช่วยป้องกันรังสีจากแสงแดดทำให้ไม่แตกลายงาหรือขุ่นมัว เหมาะกับการติดตั้งในที่ที่ต้องการให้แสงแดดส่องลงมาในเวลากลางวัน ทำให้ตัวอาคารสว่างโดยไม่ต้องเปิดไฟจึงช่วยให้ประหยัดพลังงานได้ดี
หลังคากระเบื้องโปร่งแสง
ติดตั้งกระเบื้องโปร่งแสงเพื่อรับแสงธรรมชาติ

รูปแบบหลังคาต่างๆ


               นอกจากวัสดุมุงหลังคาแล้ว รูปแบบหลังคาก็มีหลายแบบเช่นกันซึ่งแต่ละแบบก็เหมาะกับการใช้งานที่ต่างกันไป และมีจุคที่ควรระวังเรื่องหลังคารั่ว ดังนี้

1.หลังคาแบน หรือ หลังคา Slab
              เป็นหลังคาเรียบแบบไม่มีความโค้งหรือเอียง ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก นิยมในบ้านแบบโมเดิร์น หรือตึกแถวหลายชั้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้กับบ้าน เพราะมีพื้นที่ราบเรียบสำหรับทำกิจกรรมต่างๆบนหลังคาเพิ่มขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง แต่เพราะตัวหลังคาทำด้วยคอนกรีตทำให้เวลากลางวันจะสะสมความร้อนไว้มาก ในช่วงกลางคืนจึงคายความร้อนออกมาทำให้บ้านรู้สึกอบอ้าวได้จึงควรวางแผนติดตั้งฉนวนกันความร้อนให้ดี
              ข้อควรระวังของของหลังคาแบนนั้นอยู่ที่ตัวหลังคาไม่มีความลาดเอียงให้น้ำระบายออกน้ำฝนจึงขังตัวได้ง่าย หากยาแนว กันซึม เสื่อมสภาพ หรือมีปูนร้าวก็ทำให้เกิดการรั่วซึมได้
หลังคาแบน หรือ หลังคา Slab
ตัวอย่างบ้านหลังคาแบน

2. หลังคาแบบเพิงหมาแหงน
               เป็นหลังคาที่เอียงด้านเดียว จะยกด้านหนึ่งให้สูงกว่าอีกด้านเพื่อระบายน้ำฝน เหมาะกับบ้านขนาดเล็ก เพราะสร้างได้ง่ายและรวดเร็ว ราคาไม่สูง แต่ควรระวังเรื่องความเอียงของหลังคาให้หลังคามีความลาดเอียงมากพอ ไม่อย่างนั้นน้ำฝนอาจจะไหลไม่ทันจนย้อนซึมกลับเข้ามาได้
หลังคาแบบเพิงหมาแหงน
บ้านเพิงหมาแหงน

3. หลังคาทรงมนิลา หรือหลังคาหน้าจั่ว
               ตัวหลังคาจะมีสันตรงกลางแล้วลาดลง 2 ข้าง เหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นแบบประเทศไทยเพราะกันแดดและฝนได้ดี มีพื้นที่ใต้หลังคาเยอะช่วยให้ระบายความร้อนออกจากหลังคาได้
หลังคาแบบหน้าจั่วนี้มักจะมีปัญหาน้ำรั่วจากสันหลังคา ที่มีรอยแตก หรือครอบไม่สนิท ทำให้เมื่อฝนตกน้ำจะรั่วซึมมาตามรอยได้
หลังคาหน้าจั่ว
หลังคาหน้าจั่ว

4. หลังคาทรงปั้นหยา
               ปัจจุบันเป็นที่นิยมเพราะความสวยงาม สามารถกันแดดและฝนได้ทุกทาง แต่การก่อสร้างนั้นมีราคาแพงเพราะมีรายละเอียดมากกว่าหลังคาแบบอื่น ต้องใช้วัสดุจำนวนมากและช่างที่มีฝีมือพอสมควร
สำหรับการรั่วซึมนั้นหลังคาปั้นหยาอาจจะมีการรั่วซึมบริเวณรอยต่อกระเบื้องชนหลังคา ปีกนก หรือบริเวณสันหลังคาได้
หลังคาปั้นหยา
หลังคาปั้นหยา

5. หลังคาปีกผีเสื้อ 
               เป็นหลังคาที่มีเพิงหมาแหงนสอง2หลังเอาด้านต่ำชนกันโดยลาดลงมาตรงกลางเป็นตัวV หลังคาลักษณะนี้ไม่เหมาะกับ ภูมิอากาศที่มีฝนตกชุกแบบประเทศไทยเพราะต้องมีรางรับน้ำจากหลังคาทั้ง2ด้าน ทำให้มีโอกาสรั่วซึมสูง
แบบหลังคาปีกผีเสื้อ
แบบหลังคาปีกผีเสื้อ

ปัญหาการรั่วซึมในจุดต่างๆและการแก้ไข


               เมื่อเรารู้จักหลังคาแต่ประเภทและจุดที่อาจจะเกิดการรั่วซึมกันไปแล้วต่อไปเรามาดูสาเหตุที่ทำให้จุดต่างๆของหลังคาเกิดการรั่วซึมและวิธีการซ่อมแซมกันโดยจะขอแบ่งออกเป็นข้อๆเพื่อให้สังเกตและเข้าใจได้ง่ายดังนี้

               1.น้ำฝนรั่วบริเวณรางน้ำตะเข้
รางน้ำตะเข้
รางน้ำตะเข้
               รางน้ำตะเข้เป็นส่วนที่คอยช่วยระบายน้ำจากหลังคาให้ไหลลงสู่พื้นในจุดที่กำหนด มักทำมาจากแผ่นโลหะโดยสาเหตุที่ทำให้รางน้ำตะเข้เกิดการรั่วซึมนั้นมีดังนี้
  • แผ่นโลหะพับหรือเสียรูปทำให้มีความลึกไม่พอรองรับน้ำจนเกิดการไหลทะลักออกมา
  • ตัวรางผุกร่อน หรือขึ้นสนิม
  • การติดตั้งที่ไม่เรียบร้อยทำให้บริเวณรอยต่อเกิดการรั่วซึม
  • ปีกของรางตะเข้แคบเกินไปและมีความลึกไม่มากพอรองรับน้ำ ทำให้เวลาฝนตก ลมจะพัดน้ำย้อนเข้าใต้หลังคาได้
การติดตั้งรางน้ำตะเข้
การติดตั้งรางน้ำตะเข้
               สำหรับการแก้ไขนั้นให้เปลี่ยนรางน้ำตะเข้ใหม่โดยเลือกให้ท้องรางลึกและกว้างขึ้น โดยตัวรางควรมีความกว้างอย่างน้อย 20 ซม. ลึกอย่างน้อย 5 ซม. และปีกยาวไม่ต่ำกว่า 20 ซม. นอกจากนี้ควรเลือกเป็นแบบปลอดสนิมเพื่อให้อายุการใช้งานยาวนาน และเมื่อติดตั้งควรระวังบริเวณรอยต่ออย่าให้มีรอยรั่ว ที่สำคัญคือการหมั่นดูแลความสะอาดภายในรางน้ำเพื่อป้องกันการอุดตันของเศษใบไม้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหารางน้ำผุด้วย


               2.น้ำฝนรั่วบริเวณอุปกรณ์ยึด
               เกิดจากอุปกรณ์ยึด เช่น ตะปูเกลียว แหวนยางแห้ง หมวกสังกะสีเป็นสนิม เสื่อมสภาพจนเกิดเป็นรูขึ้น ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการที่มีแสงลอดลงมาผ่านรูที่รั่วนั้นได้

การใช้ซิลิโคนอุดรูหลังคา
การใช้ซิลิโคนอุดรูชั่วคราว
               สำหรับการแก้ไขเบื้องต้นนั้นให้ใช้ซิลิโคนอุดรู และใส่แหวนยางและหมวกสังกะสีลงไปเพื่อป้องกันการรั่วซึมชั่วคราว แต่ในระยะยาวให้เปลี่ยนอุปกรณ์ยึดใหม่และทาวัสดุกันซึมจำพวกฟิลโคททับอีกชั้นหนึ่ง


               3.น้ำฝนรั่วบริเวณปูนปั้น
               น้ำรั่วบริเวณปูนปั้นนั้นเกิดได้จาก
  • ปูนทรายแตกร้าวทำให้น้ำฝนรั่วเข้าไปตามรอยแตกได้
  • ปูนปั้นไม่ได้ขนาด
  • การทำปูนปั้นไม่เรียบร้อยและติดตั้งแผ่นปิดรอยต่อไม่ถูกต้อง
    หลังคารั่วจากปูนทรายหมดสภาพ
    ปูนทรายหมดสภาพ
               ซึ่งปัญหาจากปูนปั้นจะตรวจสอบได้ยากจำเป็นต้องรอให้เกิดร่องรอยน้ำรั่วหรือปีนขึ้นไปตรวจบนหลังคาก่อนจึงจะรู้
               สำหรับการแก้ไขให้สกัดเอาปูนทรายที่แตกร้าวหรือมีปัญหาออก ทำความสะอาดให้เรียบร้อย แล้วใช้แผ่นปิดรอยต่อมาปิดเสริมก่อนจะใช้ปูนทรายปิดทับอีกครั้ง

               4.น้ำฝนรั่วจากแผ่นกระเบื้อง
               เกิดได้จากหลายสาเหตุดังนี้
  • กระเบื้องเกิดรอยแตกร้าว สามารถสังเกตได้จากการที่มีแสงส่องลงมาตามแนวของรอบแตก
  • การติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆบนหลังคาจนทำให้กระเบื้องเกิดความเสียหาย
  • รอยต่อกระเบื้องอยู่ในแนวเดียวกันยาวตลอดทั้งแถวทำให้น้ำไหลเข้าได้ง่าย
  • กระเบื้องเบียดลอน
  • ระยะซ้อนเหลื่อมไม่เพียงพอทำให้ปลายกระเบื้องเปิดจนน้ำฝนไหลย้อนเข้าไปได้
หลังคารั่ว
                กระเบื้องแตก / กระเบื้องเบียดลอน / รอยต่อกระเบื้องอยู่ในแนวเดียวกัน    

สำหรับทางแก้ไขเมื่อกระเบื้องเกิดรอยแตกร้าวที่ดีที่สุดคือควรเปลี่ยนใหม่โดยใช้กระเบื้องรุ่นเดิม เพื่อให้สามารถเข้ากับกระเบื้องเดิมได้ แต่ถ้าไม่สะดวกสามารถใช้ซิลิโคนคุณภาพสูงชนิดอุดรอยรั่วโป๊วรอยแตกได้เช่นกัน
การโป๊วรอยแตกกระเบื้อง
การโป๊วรอยแตกกระเบื้อง
             ส่วนปัญหาระยะซ้อนเหลื่อมนั้น โดยทั่วไประยะซ้อนเหลื่อมจะเป็นไปตามระยะห่างของแปกับความยาวของวัสดุมุงหลังคา เช่น ใช้กระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์ความยาว 120 ซม. 
  • ความลาดชัน 10-20 องศา จะต้องการระยะซ้อนเหลื่อมที่อย่างน้อย 20 ซม. 
  • ความลาดชัน 21-40 องศา จะต้องการระยะซ้อนเหลื่อมที่อย่างน้อย 15 ซม. 
  • ความลาดชัน 41-60 องศา จะต้องการระยะซ้อนเหลื่อมที่อย่างน้อย 10 ซม. 
  • ความลาดชันมากกว่า 60 องศา จะต้องการระยะซ้อนเหลื่อมที่อย่างน้อย 5 ซม
               และออกแบบระยะห่างของแปที่ 100 ซม.
               การแก้ปัญหาให้รื้อกระเบื้องออกแล้วปรับระยะแปให้กระเบื้องซ้อนทับกันอย่างถูกต้องเหมาะสมกับวัสดุที่มุง ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้
               สุดท้ายสำหรับปัญหากระเบื้องเบียดลอนและรอยต่อกระเบื้องอยู่ในระนาบเดียวกันให้ปรับแนวกระเบื้องใหม่ให้เหมาะสมปัญาหาน้ำรั่วก็จะหมดไป


               5.น้ำฝนรั่วบริเวณชายคา
               ชายกระเบื้องที่ยื่นเลยชายคาออกมาน้อยเกินไปจะทำให้เกิดปัญหาน้ำรั่วซึมได้เพราะน้ำจะไหลย้อนเข้าใต้หลังคา
น้ำฝนรั่วบริเวณชายคา
ชายกระเบื้องสั้นเกินไปจนมีปัญหาฝนเข้า
               สามารถแก้ไขได้โดยเพิ่มความยาวกระเบื้องแถวล่างสุดให้มีความยาวมากขึ้น ซึ่งระยะที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 100-180 ซม. หรือใช้วิธีการติดกันสาดเพิ่มเติมก็ได้เช่นกัน


               6.น้ำฝนรั่วบริเวณบริเวณรอยต่อกระเบื้องชนผนัง หรือบริเวณปีกนก
              ปัญหาบริเวณปีกนกนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายกรณี เช่น 
น้ำฝนรั่วบริเวณบริเวณรอยต่อกระเบื้องชนผนัง
 ปีกนกสั้นเกินไป / ปีกนกสูงเกินไป / ปีกนกร้าว
  • ปีกนกสั้นกว่ามาตรฐาน 
  • ปีกนกอยู่สูงจากกระดับกระเบื้องเกินไป ทำให้มีช่องว่างให้ฝนสาดเข้าไปได้  
  • การเสียบเหล็กปีกนกผิดวิธีทำให้รับน้ำหนักไม่ไหวจนร้าว ทำให้น้ำเข้า
  • กระเบื้องสอดเข้าใต้ปีกนกได้ไม่เต็มปีก
               การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือทุบปีกนกทิ้งแล้วทำใหม่
               ส่วนปัญหารอยต่อกับผนังนั้นจากสาเหตุต่างๆดังนี้
  • ลอนกระเบื้องที่ติดกับผนังนั้นเป็นลอนคว่ำไม่ใช่ลอนยก ทำให้ฝนไหลมาตามลอนจนเข้าหลังเป็นปัญหารั่วซึมได้ ทางแก้คือการรื้อกระเบื้องแล้วปูใหม่
  • ปูนที่เททับบกระเบื้องนั้นแตกร้าวจนน้ำซึมเข้าได้ การแก้ปัญหาให้สกัดเอาปูนที่แตกร้าวออก ทำความสะอาดให้เรียบร้อย แล้วใช้แผ่นปิดรอยต่อมาปิดเสริมก่อนจะใช้ปูนปิดทับใหม่อีกครั้ง
           

               7.น้ำฝนรั่วบริเวณสันตะเข้
               สันตะเข้เป็นบริเวณครอบต่างๆของหลังคา มักเกิดปัญหารั่วซึม จากสาเหตุดังนี้
  • ตัวครอบมีรอยแตกร้าว
  • ครอบไม่แนบสนิทกัน
  • การตัดกระเบื้องไม่เรียบร้อยทำให้รอยต่อไม่เรียบสนิท
  • การใช้ปูนพอกสันหลังคาและยึดครอบด้วยปูนปั้น เมื่อถูกความร้อนทำให้วัสดุทั้งสองชนิดหดตัวไม่เท่ากันจนเกิดรอยรั่ว
ปูนยึดครอบและครอบแตกร้าว
ปูนยึดครอบและครอบแตกร้าว
               สำหรับการแก้ไขปัญหา ถ้าครอบมีรอยแตกร้าวควรเปลี่ยนครอบใหม่ที่เป็นรุ่นเดิมเพื่อให้สามารถเข้ากันได้กับของเก่า แต่หากเป็นปัญหาครอบไม่สนิทก็เพียงแค่จัดเรียงใหม่ให้ถูกต้องก็ช่วยแก้ปัญหาได้
              ส่วนปัญหารอยรั่วนั้นให้ใช้ระบบครอบสันหลังคาแบบแห้ง ซึ่งเป็นแถบยางมะตอยจะสามารถติดแนบไปกับสันหลังคาได้แนบสนิทและติดตั้งครอบทับได้ ช่วยแก้ปัญหาน้ำรั่วซึมได้ดี


               8.น้ำฝนรั่วเพราะโครงหลังคา
               เกิดจากสาเหตุต่างๆดังนี้
  •  โครงหลังคาเริ่มเสื่อมสภาพผุพัง ไม่สามารถรับน้ำหนักตัวกระเบื้องได้ จนหลังคาเกิดการผิดรูป เสียทรง ทำให้กระเบื้องเกิดการเรียงตัวที่ผิดรูปจนเกิดช่องว่างระหว่างรอยต่อขึ้นมา หากรุนแรงอาจทำให้เกิดกระเบื้องโก่งตัวจนแตกได้ทีเดียว
  • ระดับของโครงหลังคาไม่ดี มีความโค้งงอไม่เรียบเสมอกัน ทำให้กระเบื้องเลื้อยและเกิดรอยรั่ว
  • ความลาดชันไม่เพียงพอทำให้น้ำย้อนกระเบื้องเข้าในหลังคา ซึ่งความลาดชันของหลังคานั้นมี3 ระดับ คือ  
                    ลาดชันน้อย (1/30 - 2 องศา)  ใช้กับวัสดุมุงหลังค่าประเภทโลหะแผ่นบางที่รีดเป็นลอน
                    ลาดชันปานกลาง (15 - 40 องศา ) ใช้กับหลังคาลอนคู่ กระเบื้องคอนกรีต กระเบื้องเซรามิค
                    ลาดชันสูง (25 - 45 องศา) เหมาะสำหรับกระเบื้องหลังคาว่าว กระเบื้องดินเผาโบราณ หลังคาไม้แป้นเกล็ด หลังคาแผ่นเรียบต่างๆ
หลังคามีความชันน้อยเกินไป / โครงสร้างหลังคาเกิดการชำรุดจนกระเบื้องเบี้ยว
หลังคามีความชันน้อยเกินไป / โครงสร้างหลังคาเกิดการชำรุดจนกระเบื้องเบี้ยว
               ปัญหาของโครงหลังคานั้นเป็นปัญหาด้านโครงสร้าง จึงควรปรึกษาวิศวกรเพื่อรับคำแนะนำและแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องที่สุด


               9. น้ำฝนรั่วบริเวณหลังคาดาดฟ้า
ปัญหาดาดฟ้ารั่วซึม
ปัญหาดาดฟ้ารั่วซึม
              เกิดจากหลังคาบ้านแบบแบน หรือดาดฟ้าของอาคารพานิชย์ซึ่งมีอายุมากจนเกิดการเสื่อมสภาพของกันซึม หรือสภาพอาคารที่ทรุดโทรมทำให้คอนกรีตแตกร้าว จนน้ำสามารถรั่วซึมเข้าตัวอาคารได้
               สามารถแก้ไขได้ด้วยการขูดสีทำความสะอาดบริเวณที่เกิดรอยรั่วก่อน จากนั้นจึงทากันซึมโดยเลือกชนิดที่ใช้ทาดาดฟ้าได้ ส่วนบริเวณที่เป็นรอยร้าวขนาดใหญ่ให้ซ่อมแซมและทำความสะอาดก่อนจึงทากันซึมเพื่อป้องกันการรั่วซึม


การเลือกผู้รับเหมา


               เมื่อเราทราบปัญหาต่างๆที่ทำให้เกิดหลังคารั่วซึมและวิธีแก้ไขกันแล้ว แต่ปัญหาบางอย่างไม่สามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้เพราะต้องใช้ทั้งความชำนาญและฝีมืออย่างมาก จำเป็นต้องมีผู้รับเหมามาช่วยจัดการ แต่ผู้รับเหมาที่ดีนั้นก็หาได้ยากเหลือเกิน สุดท้ายวันนี้เราจึงขอเสนอวิธีการคัดเลือกผู้รับเหมาเพื่อไม่ให้ต้องเกิดปัญหาวุ่นวายในภายหลังกันครับ

1.ตามหาผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้
               ช่องทางที่ดีที่สุดที่เราจะหาผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้นั้นมากจากการแนะนำของคนรู้จักหรือคนที่เคยใช้บริการมาก่อน เพราะจะทราบได้ว่ามีการทำงานของผู้รับเหมานั้นเป็นยังไงน่าไว้ใจหรือไม่ แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีคนรู้จักที่สามารถแนะนำผู้รับเหมาได้ก็สามารถหาผู้รับเหมาได้จากเว็บไซต์ต่างๆ เช่น https://www.thaihometown.com/   ,  https://www.shoppingbycom.com  ซึ่งจะมีผู้รับเหมาหางานอยู่ หรืออาจจะหาตามกลุ่ม Facebook ต่างๆก็ได้เช่นกัน

2.เลือกผู้เชี่ยวชาญในงานที่เราต้องการ
               เพราะผู้รับเหมาแต่ละรายจะมีความถนัดไม่เหมือนกัน บางรายถนัดงานหลังคา บางรายถนัดงานโครงสร้าง นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ในการก่อสร้างอาคารที่แตกต่างกันไป บางรายอาจจะถนัดการทำอาคารพาณิชย์ บางรายถนัดในการทำบ้านเดี่ยว และสุดท้ายควรพิจารณางานโครงสร้างที่ผู้รับเหมาถนัดด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานโครงสร้างไม้ โครงสร้างเหล็ก หรือโครงสร้างคอนกรีต ซึ่งเราต้องเลือกให้เหมาะสมกับที่เราต้องการซ่อมแซมปรับปรุงบ้าน

3.มีผลงานจริงให้ดู ตรวจสอบได้ มีคนรับรอง
               ซึ่งก่อนจะตัดสินใจเซ็นสัญญาควรขอดูผลงานที่เคยผ่านมาของผู้รับเหมาก่อน อาจจะเป็นportfolio หรือ ตัวอย่างบ้านจริงที่ผู้รับเหมาเคยทำ และสอบถามข้อมูลต่างๆจากเจ้าของบ้านที่เคยใช้บริการมาก่อนเพื่อจะได้ทราบว่า ผู้รับเหมามีลักษณะการทำงานอย่างไร ถนัดในด้านไหน มีปัญหาออะไรหรือไม่

4.มีทัศนคติการทำงานที่ตรงกัน
               ระหว่างการเจรจาพูดคุย เราควรพูดคุยกับผู้รับเหมาอย่างน้อย 2-3 เจ้า เพื่อพิจารณาดูทัศนคติการทำงาน เงื่อนไขต่างๆ และความเห็นในการทำงานว่าไปในทิศทางเดียวกับเราหรือไม่ เพื่อป้องกันการทะเลาะกับผู้รับเหมาหรือมีปัญหาในภายหลัง

5. เลือกผู้รับเหมาที่มีมาตรฐาน
               สามารถสังเกตได้ตั้งแต่ความตรงต่อเวลาในการนัดหมาย ความแม่นยำของข้อมูล รวมไปถึงการเสนอเอกสารต่างๆ เช่น 
                    - ใบเสนอราคา  
                    - เอกสารสัญญาว่าจ้างที่ต้องมีรายละเอียดการแบ่งงวดงาน เงื่อนไขการว่าจ้างต่าง ๆ รวมถึงการรับประกันอีกด้วย
                    - แผนการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จ 
                    - รายชื่อผู้ประสานงานและทีมงานก่อสร้าง (ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง โฟร์แมน หัวหน้าช่าง) 
               เอกสารเหล่านี้แสดงถึงความน่าเชื่อถือในการทำงานที่ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้รับเหมารายไหนที่ทำงานได้อย่างมีมาตรฐาน

              หลังคานั้นถือเป็นจุดที่สำคัญที่สุดจุดหนึ่งของบ้านเราจึงควรดูแลและใส่ใจรายละเอียดเป็นพิเศษเพราะหากหลังคาเกิดปัญหาจนมีการรั่วซึมแล้วไม่รีบแก้แล้ว อาจส่งผลกระทบอื่นๆตามมาเป็นวงกว้างได้นั่นเอง

Post A Comment:

0 comments:

babbaan.in V. Powered by Blogger.