บ้านเป็นสถานที่แห่งความสุขของทุกคน และเป็นปัจจัยสี่ที่สำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตของคนเรา เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าบ้านมีความหมายกับเราทุกคนอย่างมากมายเพียงใดส่วนการเลือกซื้อบ้านของแต่ละคนนั้น ย่อมแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์การใช้งานและความชอบของแต่ละคนซึ่งบางคนก็ชอบบ้านดิน บางคนก็ชอบบ้านปูนและบางคนก็ชอบบ้านไม้ เมื่อเราเอ่ยถึงบ้านไม้นั้น มักจะทำให้เรานึกถึงความรู้สึกที่คลาสสิก น่าทะนุถนอม อบอุ่น เป็นธรรมชาติ และแฝงความลึกลับไว้ด้วยเสน่ห์ของลายไม้ ตามแต่ละชนิดของไม้กันเลยที่เดียว นี้ก็เป็นความชอบส่วนบุคคลในการเลือกลายไม้ ต่างๆ ผู้เขียนได้เคยมีโอกาสคุยกับช่างไม้ฝีมือเยี่ยมในท้องถิ่นแห่งหนึ่งผู้ซึ่งได้รับการชักชวนให้มาบูรณะวัดเก่าที่กรมศิลปากรกำลังบูรณะอยู่ในขณะนั้น ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า “ลายไม้ตะแบกสวยงาม พอๆกับไม้สัก และราคาก็แพงพอๆกับความสวยงามของมัน แต่หากรักษาความสวยงามของลายไม้ไว้ได้ มันจักเป็นความภูมิใจอย่างยิ่งของผู้ครอบครองและผู้อยู่อาศัย ในบ้านหลังนั้น”
โดยปกติเราจะรู้สึกว่าบ้านไม้เป็นบ้านที่ดูแลรักษายาก เพราะไม้เป็นวัสดุธรรมชาติ ที่ผุพังไปตามกาลเวลาได้อย่างว่องไว รวมถึงมักจะเป็นอาหารอันโอชะของศัตรูตัวร้ายของบ้านก็คือปลวก นั้นเอง แต่ถ้าคุณมีวิธีการที่ถูกต้องในการดูแลรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมก็จะทำให้บ้านไม้ของคุณอยู่คู่กับคุณและลูกหลานของคุณไปอย่างยาวนาน โดยไม่ต้องซ่อมแซมอย่างมากมายเลยทีเดียว สำหรับวิธีการดูแลนั้น เราแบ่งได้เป็น 2 ระยะดังนี้ 1.ระยะการเตรียมการก่อสร้าง 2.ระยะหลังจากก่อสร้างเสร็จแล้วโดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ระยะการเตรียมการก่อสร้าง
- ระยะการเตรียมการก่อสร้าง ในระยะแรกนี้ เราต้องหาวัสดุที่สำคัญสำหรับงานนี้ก็คือไม้นั้นเอง ส่วนจะเป็นไม้อะไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้านว่าต้องการให้ออกมาเป็นแบบไหน สามารถเลือกได้ตามใจชอบ และเมื่อเลือกไม้ได้แล้วก็มาถึงขั้นตอนของการเตรียมไม้ให้พร้อมแก่การใช้งานซึ่งไม้ที่หามาได้ จะมีด้วยกัน 3 รูปแบบด้วยกัน คือ 1.ไม้สด 2.ไม้แปรรูป 3.ไม้เก่า
ไม้สด(ซึ่งในปัจจุบันหาได้ยากมาก) คือไม้ที่เราหาซื้อมาเป็นต้นไม้แล้วไปตัดเอง หรือปลูกเอง ที่ยังไม่ได้ผ่านการแปรรูป เราต้องนำไม้ชนิดนี้มาแปรรูปให้เหมาะสมแก่การใช้งานในบ้านของเราตามแบบแปลนที่ได้กำหนดไว้
ไม้แปรรูป คือไม้ที่ผ่านการแปรรูปมาแล้ว เราสามารถไปหาซื้อได้ตามร้านขายไม้ทั่วไป สามารถเลือกขนาด ความหนาและความยาวได้ตามที่ต้องการ และเป็นไม้ที่ดีที่สุดเพราะสะดวกแก่การใช้งานได้เลย
ไม้เก่า คือไม้เก่าที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว ก่อนนำมาใช้ ต้องนำมาไส เกลา กลึง ให้ได้รูปทรงและขนาดตามที่ต้องการก่อน จึงจะสามารถนำมาใช้งานได้ รวมถึงไม้เก่านั้น เมื่อซื้อมาแล้วต้องทำความสะอาดจากสี หรือฝุ่นละอองที่จับในเนื้อไม้ให้หมดเสียก่อนรวมทั้งต้องอุดร่องรอยต่างๆของเนื้อไม้ให้เรียบสวยเสียก่อน จึงจะนำมา ใช้งานได้
เมื่อได้ไม้ตามที่ต้องการแล้ว หากเราต้องการเก็บรักษาลายไม้ไว้ให้สวยงามควรค่าแก่การชื่นชม ให้ทายากันปลวก บนไม้ทุกแผ่นทุกด้าน ก่อนการดำเนินการก่อสร้างใดๆทั้งสิ้น แต่ถ้าหากต้องการที่จะรักษาเนื้อไม้ให้คงทนถาวรได้อย่างยาวนาน ขอแนะนำให้ใช้สีปีบ(ส่วนตัวแนะนำแสงมาเลเซีย) หรือสีอะไรก็ได้ ทาจนกว่าเนื้อไม้จะชุ่ม เพื่อเป็นการรักษาเนื้อไม้ ให้คงทนได้เป็นอย่างดี ซึ่งในส่วนนี้แนะนำให้ทาเฉพาะบริเวณที่อยู่ด้านบนและเสา เช่น คาน อกไก่ ฝาบ้าน ไม่แนะนำให้ทาบริเวณพื้น เนื่องจากจะไปทับลายไม้จนมองไม่เห็นลายไม้อันงดงาม เมื่อทาเนื้อไม้ทุกชิ้นเรียบร้อยแล้ว พักเอาไว้แล้วเริ่มขุดหลุมกันได้เลย หลังจากขุดหลุมเสร็จแล้ว แนะนำให้ใช้ยากันปลวกเทก้นหลุมก่อนการตั้งเสาทุกต้น หลังจากนั้น ไม้ทุกส่วนที่ต้องนำมาประกบกันให้ใช้จาระบีทาให้ทั่วบริเวณที่ต้องการประกบกันเพื่อป้องกันเนื้อไม้แห้งและกันปลวกได้เป็นอย่างดี ช่างวัยเก๋าท่านหนึ่งรับประกันว่าเท่าที่เคยรื้อบ้านไม้เก่าอายุร้อยกว่าปีมาหลายหลังพบว่า เนื้อไม้ยังชุ่มอยู่ทุกบ้านที่ได้มีการทาจาระบีไว้ หลังจากนั้นก็สามารถก่อสร้างประกอบเป็นตัวบ้านได้อย่างสวยงาม เมื่อประกอบเป็นตัวบ้านได้อย่างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ถ้าต้องการให้บ้านอยู่ได้อย่างคงทน และพื้นบ้านมีความสวยงามด้วยลายไม้ที่มีอยู่ ขอแนะนำให้ท่าน
ขัดพื้นไม้ สามขั้นตอนดังนี้
ครั้งที่หนึ่งใช้เครื่องขัดโดยใช้กระดาษทราบเบอร์หยาบๆ ขัดลงที่พื้นให้ทั่วหนึ่งครั้ง เป็นครั้งแรก ต่อมาขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์กลางหนึ่งครั้งเป็นครั้งที่สอง และขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์ละเอียดอีกหนึ่งครั้งเป็นรอบสุดท้าย รวมแล้วขัดทั้งหมด 3 ครั้งด้วยกัน หลังจากนั้นลงสีเคลือบเนื้อไม้ ครั้งแรกให้ทาทิ้งไว้หนึ่งคืนให้สีแห้ง ซึ่งสีเคลือบไม้นี้จะมีทั้งสีทาภายนอกและทาภายในแนะนำให้ใช้สีภายนอกเพราะจะอยู่ได้อย่างทนมากกว่า เมื่อเราทาสีรักษาเนื้อไม้ครั้งแรกจะพบว่าจะมีฟองเล็กๆ ผุดขึ้นจากเนื้อไม้ เป็นสันญาณที่แสดงว่าเนื้อไม้มีรูพรุนในเนื้อไม้อยู่และเนื้อไม้ที่มีรูพรุนนั้นได้ดูซับสีรักษาเนื้อไม้ลงไปในเนื้อไม้แล้ว ให้รอจนไม้แห้งโดยส่วนใหญ่ มักใช้เวลาประมาณหนึ่งคืน แล้วจึงทาทับอีกหนึ่งครั้งเป็นครั้งที่สองคอยสังเกตฟองอากาศถ้ายังมีฟองอากาศบนผิวไม้มากให้เตรียมตัวทาทับอีกเป็นครั้งที่สาม
ช่างวัยเก๋าแจ้งว่าตลอดชั่วชีวิตที่ทำมาไม่เคย
ลงสีรักษาเนื้อไม้มากกว่าสี่ครั้งเลยสักหลังเดียว และหากบ้านใครไม่ชอบให้มีร่องบริเวณระหว่างแผ่นไม้ที่ต่อกัน ให้ใช้ผงที่ขัดไม้ ซึ่งการขัดด้วยเครื่องจะมีถุงใส่เศษผงนี้เก็บไว้ ให้นำเศษผงมาผสมกับกาวลาเทกซ์,อะคิริค หรือยาอุดโปว้สำหรับไม้แล้วแต่สะดวก วิธีการผสมนั้น สามารถศึกษาได้ตามวิธีการข้างผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ แต่ช่างวัยเก๋าแนะนำให้ใส่ผสมลงไปในปริมาณที่สามารถผสมกันได้เป็นเนื้อเดียวและปั้นเป็นก้อนยาแนวร่องไม้ได้ แล้วนำไปยาแนวร่องไม้ ก่อนการขัดด้วยกระดาษทรายรอบสุดท้าย ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วขัดให้เรียบเสมอกับแผ่นไม้ เพื่อรอรับการทาสีรักษาเนื้อไม้ต่อไป อันจะส่งผลให้เราสามารถรักษาเนื้อไม้ ได้นานเป็นสิบปีเลยทีเดียว
นอกจากนี้หากเป็น
บ้านไม้ที่ปลูกสร้างอยู่ในบริเวณที่มีฝนตกชุก แนะนำให้สร้างหลังคายื่นออกมาจากตัวบ้านสักหนึ่งเมตรเพื่อป้องกันฝนสาดลงมาโดนเนื้อไม้โดยตรง รวมทั้งสร้างกันสาดให้กับบริเวณหน้าต่างโดยรอบด้วยจะดียิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะกันฝนได้แล้วยังสามารถกันแดดและลมได้อีกด้วย ในส่วนของฝาบ้าน ขอบหน้าต่าง เสา หรือในบริเวณเนื้อไม้ต่าง ๆ หากมีรอยแตก รึรั่วที่สามารถทำให้ฝน ลม แดด แทรกตัวผ่านมาได้ ให้ใช้วิธีการอุดรอยรั่วเช่นเดียวกับการยาแนวร่องไม้ แต่ถ้าเป็นรอยรั่วจากสังกะสี แนะนำให้ใช้ซิลิโคนอุดรอยเหล่านั้นทั้งหมด เพื่อเป็นการดูแลรักษาบ้านไม้ทั้งหลังให้คงทน สวยงาม น่าอยู่อาศัย และควรหมั่นตรวจตราบริเวณต่างๆ ของบ้านอยู่เสมอ ซึ่งวิธีการตรวจตราจะดำเนินการอยางไรนั้น เราจะมาแนะนำกันต่อในการดูแลรักษาบ้านไม้ที่ก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว
2. การดูแลรักษาบ้านไม้ที่ก่อสร้างมาแล้ว หากเราไม่ทราบว่า ในการดำเนินการก่อสร้างนั้น ทางผู้ก่อสร้างได้ดำเนินการดูแลรักษาไม้ก่อนการก่อสร้างรึไม่นั้น ขอแนะนำให้เจาะบริเวณพื้นรอบเสาแล้วเทยากันปลวกในบริเวณโคนเสาไม้ทั้งหมดทุกต้น แล้วทาสีปีบหรือสีอะไรก็ได้แล้วแต่ความชอบ ในส่วนบนของบ้านและเสาทั้งหมด ซึ่งในส่วนของพื้นก็แนะนำให้ทำแบบเดียวกับที่แนะนำไปในข้อแรกนอกจากนี้ หากบ้านไม้หลังงามของเรานี้ อยู่ไกลจากบริเวณชุมชน รึว่าตัวท่านเองและครอบครัว ไม่ได้แพ้กลิ่นน้ำมันโซล่าแต่อย่างไร ขอแนะนำให้ใช้น้ำมันโซล่าหยดลงไปในบริเวณหัวเสาที่เป็นรอยต่อระหว่างเนื้อไม้ในส่วนต่างๆ โดยหยดแค่พอชุ่มเนื้อไม้ออกมาให้เห็น แต่ต้องหยดเป็นประจำอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย ทุกสามเดือน ควรหยดสักหนึ่งครั้ง เพื่อทำให้เนื้อไม้ชุ่มชื่นและเป็นการป้องกันปลวกได้เป็นอย่างดี
ในส่วนของพื้นไม้นั้น หากท่านไม่ชอบที่จะต้องลงสีเคลือบรักษาสภาพเนื้อไม้ แนะนำให้ทำความสะอาดพื้นดังกล่าวโดยการใช้แปลงทองเหลืองขัดและล้างด้วยน้ำเปล่า โดยขัดพื้นให้คราบฝุ่นผง และคราบสกปรกต่างหลุดออกจากเนื้อไม้ อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเพื่อรักษาความสะอาดของเนื้อไม้ และคงลายไม้ไว้ให้สวยงามดังเดิม และส่วนใหญ่บ้านไม้นั้นมักจะมีปลวกมาขออยู่อาศัยอย่างสม่ำเสมอ ขอแนะนำให้ท่าน ใช้ไม้เคาะบริเวณบ้านในมุมที่มืดและอับชื่นอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้งเพื่อฟังเสียงไม้ในบริเวณนั้นว่าเป็นเสียงแน่นรึเสียงโปร่ง ซึ่งหากได้ยินเสียงโปร่งๆ ให้สันนิฐานว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในบริเวณนั้นอย่างแน่นอน แนะนำให้ใช้สว่านดอกเล็กเจาะลงไปแล้วเอาไฟฉายส่องดู หากพบว่ามีปลวกรึแมลงต่างๆ ให้ใช้น้ำมันโซล่าหยอดลงไปให้ชุ่ม หรือใช้ยา
กำจัดปลวกที่ท่านเห็นควร หรือจะแจ้งบริษัท ฯที่ดำเนินการในส่วนนี้ก็ตามแต่สะดวก
หลังจากกำจัดเหล่าศัตรูตัวร้ายไปได้แล้ว หากเนื้อไม้ไม่ได้ผุกร่อนจนเกินไปแนะนำให้อุดรอยด้วย ยาอุดโปว้เนื้อไม้ที่สามารถหาได้ตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับการดูแลรักษาบ้านทั่วไป เทลงไปให้เต็มในเนื้อไม้ แต่ถ้าหากชำรุดเสียหากมากๆ แนะนำว่าให้รื้อเปลี่ยนใหม่ก่อนที่โครงสร้างในส่วนอื่นๆจะไม่สามารถรับน้ำหนักได้และพังล้มเสียหายกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีเคล็ดลับเล็กๆน้อยๆว่าในบริเวณที่พบปลวกนั้น เราสามารถล่อหลอกปลวกให้ออกมาจากเนื้อไม้ในบริเวณดังกล่าวได้อย่างง่ายๆ ด้วยวิธีการดังนี้ให้ใช้ลังกระดาษชุบน้ำให้ทั่วลัง แล้วยกขึ้นมาผึ่งลมไว้ให้แห้งพอหมาดๆ หลังจากนั้น นำไปวางไว้บนพื้นดินบริเวณที่พบปลวกรอเวลาสักประมาณ ห้าถึงเจ็ดวัน แล้วจึงแต่งตัวให้พร้อมสำหรับปฏิบัติการกำจัดปลวก โดยใช้ผ้าปิดปากสวมถุงมือให้เรียบร้อย นำถุงขยะและยากำจัดปลวกชนิดต่าง ๆ หรือน้ำมันโซล่า มายังบริเวณที่ได้วางลังกระดาษไว้ ค่อยๆหงายแผ่นลังกระดาษขึ้นอย่างเบามือแล้วท่านจะพบปลวกอยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ให้ท่านใช้ยากำจัดปลวกหรือน้ำมันโซล่าที่ท่าน เตรียมมา ทำการฉีดพ่นหรือราดไปยังลังกระดาษบริเวณที่มีปลวกอยู่อาศัย โดยส่วนใหญ่จะแนะนำให้วางบนดิน ดังนั้นเมื่อกำจัดปลวกบนดินเรียบร้อยแล้ว เราจะพบรังปลวกอยู่ใต้ดินด้วยขอให้ท่านดำเนินการจำกัดให้หมดสิ้นยกรังปลวกกันไปเลยที่เดียวหลังจากได้กำจัดปลวกจนตายยกรังแล้ว จึงเก็บกวาด บริเวณดังกล่าวให้เรียบร้อย แล้วนำใส่ถุงขยะที่เตรียมมารัดปากถุงให้สนิท ทิ้งขยะไปให้หมดทุกอย่าง (หากเป็นสมัยก่อนจะแนะนำให้นำไปเผาไฟ)
เหล่านี้คือวิธี
การดูแลบ้านไม้ ที่ใช้ไม้จริงก่อสร้าง เพื่อการเก็บรักษา คงสภาพเนื้อไม้ให้มีลายไม้ที่สวยงาม คงเสน่ห์ของบ้านไม้แบบไทยๆ ของเราให้คงอยู่ เป็นความภาคถูมิใจของผู้ครอบครองและผู้อยู่อาศัย สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างตราบนานเท่านาน ตามความใส่ใจของผู้ดูแลรักษาต่อไป
ชมรูปแบบบ้านไม้สวยๆ
 |
รูปบ้านไม้ |